ชื่อวิทยาศาสตร์ : Andrographis paniculata (Burm.f.) Wall.ex Nees
ชื่อสามัญ : Kariyat , The Creat
วงศ์ : ACANTHACEAE
ชื่ออื่น : หญ้ากันงู (สงขลา) น้ำลายพังพอน ฟ้าละลายโจร (กรุงเทพฯ) ฟ้าสาง (พนัสนิคม)
เขยตายยายคลุม สามสิบดี (ร้อยเอ็ด) เมฆทะลาย (ยะลา) ฟ้าสะท้าน (พัทลุง)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก สูง 30-70 ซม. ทุกส่วนมีรสขม กิ่งเป็นใบสี่เหลี่ยม
ใบ เดี่ยว แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอก ช่อ ออกที่ปลายกิ่งและซอกใบ ดอกย่อย
กลีบดอกสีขาว โคนกลีบติดกัน ปลายแยก 2 ปาก ปากบนมี 3 กลีบ มีเส้นสีม่วงแดงพาดอยู่
ปากล่างมี 2 กลีบ ผล เป็นฝัก เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาล แตกได้ ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก
ส่วนที่ใช้ : ทั้งต้น ใบสด ใบแห้ง ใบจะเก็บมาใช้เมื่อต้นมีอายุได้ 3-5 เดือน
สรรพคุณ มี 4 ประการคือ
1. แก้ไข้ทั่ว ๆ ไป เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
2. ระงับอาการอักเสบ พวกไอ เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิล หลอดลมอักเสบ
ขับเสมหะ รักษาโรคผิวหนังฝี
3. แก้ติดเชื้อ พวกทำให้ปวดท้อง ท้องเสีย บิด และแก้กระเพาะลำไส้อักเสบ
4. เป็นยาขมเจริญอาหาร
และการที่ฟ้าทะลายโจรมีสรรพคุณ 4 ประการนี้ จึงชวนให้เห็นว่าตัวยา
ต้นนี้ เป็นยาที่สามารถนำไปใช้กว้างขวางมาก จากเหตุผลที่ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ระงับ
การติดเชื้อหรือระงับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
ใบฟ้าทะลายโจร มีสารเคมีประกอบอยู่หลายประเภท แต่ที่เป็นสาระสำคัญในการออกฤทธิ์
คือ สารกลุ่ม Lactone คือ
1. สารแอดโดรกราโฟไลด์ (andrographolide)
2. สารนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (neo-andrographolide)
3. 14-ดีอ๊อกซี่แอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-andrographolide)
ฟ้าทะลายโจรเป็นยาเก่าแก่ของประเทศจีน ที่ใช้ในการแก้ฝี แก้อักเสบ และรักษาโรคบิด
การวิจัยด้านเภสัชวิทยาพบว่า ฟ้าทะลายโจรสามารถยับยั้ง เชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุ
ของการเป็นหนองได้ และมีการศึกษาวิจัยของโรงพยาบาลบำราศนราดูร
ถึงฤทธิ์ในการรักษาโรคอุจจาระร่วงและบิด แบคทีเรีย เปรียบเทียบกับ เตตราซัยคลิน
ในผู้ป่วย 200 ราย อายุระหว่าง 16-55 ปี ได้มีการเปรียบเทียบระยะเวลาที่ถ่ายอุจจาระเหลว
จำนวนอุจจาระเหลว น้ำเกลือที่ให้ทดแทนระหว่างฟ้าทะลายโจรกับเตตราซันคลิน
พบว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ลดจำนวนอุจจาระร่วงและจำนวนน้ำเกลือที่ให้ทดแทน
อย่างน่าพอใจ แม้ว่าจากการทดสอบทางสถิติ จะไม่มีความแตกต่างโดยในสำคัญก็ตาม
ส่วนการลดเชื้ออหิวาตกโรคในอุจจาระ ฟ้าทะลายโจรไม่ได้ผลดีเท่าเตตราซัยคลิน
นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลชุมชนบางแห่งได้ใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาอาการเจ็บคอ
ได้ผลดีอีกด้วย มีฤทธิ์เช่นเดียวกับเพ็นนิซิลินเมื่อเทียบกับยาแผนปัจจุบัน เท่ากับเป็น
การช่วยให้มีผู้สนใจทดลองใช้ยานี้รักษาโรคต่าง ๆ มากขึ้น
วิธีและปริมาณที่ใช้
1. ถ้าใช้แก้ไข้เป็นหวัด ปวดหัวตัวร้อน
ใช้ใบและกิ่ง 1 กำมือ (แห้งหนัก 3 กรัม สดหนัก 25 กรัม) ต้มน้ำดื่มก่อนอาหารวันละ 2
ครั้ง เช้า-เย็น หรือเวลามีอาการ
2. ถ้าใช้แก้ท้องเสีย ท้องเดิน เป็นบิดมีไข้
ใช้ทั้งต้นหรือส่วนทั้ง 5 ของฟ้าทะลายโจร ผึ่งลมให้แห้ง หั่นชิ้นเล็ก ๆ ประมาณ
1 กำมือ (หนักประมาณ 3-9 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่มตลอดวัน
ตำรับยาและวิธีใช้
1. ยาชงมีวิธีทำดังนี้
- เอาใบสดหรือแห้งก็ได้ ประมาณ 5-7 ใบ แต่ใบสดจะดีกว่า
- เติมน้ำเดือดลงจนเกือบเต็มแก้ว
- ปิดฝาทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง หรือพอยาอุ่น แล้วรินเอามาดื่ม ขนาดรับประทาน
ครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 ครั้ง ก่อนอาหาร, ก่อนนอน
2. ยาเม็ด (ลูกกลอน) มีวิธีทำดังนี้
- เด็ดใบสดมาล้างให้สะอาดผึ่งในที่ร่ม ห้ามตากแดด ควรผึ่งในที่มีลมโกรก
ใบจะได้แห้งเร็ว
- บดเป็นผงให้ละเอียด
- ปั้นกับน้ำผึ้ง หรือน้ำเชื่อม เป็นเม็ดขนาดเท่าเม็ดถั่วเหลือง (หนัก 250 มิลลิกรัม)
แล้วผึ่งลมให้แห้ง เพราะถ้าปั้นรับประทานขณะที่ยังเปียกอยู่จะขมมาก ขนาดรับประทาน
ครั้งละ 4-10 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง ก่อนอาหาร, ก่อนนอน
3. แค๊ปซูล มีวิธีทำคือ
แทนที่ผงยาที่ได้จะปั้นเป็นยาเม็ด กลับเอามาใส่ในแค๊ปซูล เพื่อช่วยกลบรสขม
ของยา แค๊ปซูล ที่ใช้ ขนาดเบอร์ 2 (ผงยา 250 มิลลิกรัม) ขนาดรับประทานครั้งละ
3-5 แค๊ปซูล วันละ 3-4 ครั้ง ก่อนอาหาร ก่อนนอน
4. ยาทิงเจอร์หรือยาดองเหล้า
เอาผงแห้งใส่ขวด แช่สุราที่แรง ๆ เช่น สุราโรง 40 ดีกรี ถ้ามี alcohol
ที่รับประทานได้ (Ethyl alcohol) จะดีกว่าเหล้า แช่พอให้ท่วมยาขึ้นมาเล็กน้อย ปิดฝาให้แน่น
เขย่าขวดวันละ 1 ครั้ง พอครบ 7 วัน จึงกรองเอาแต่น้ำ เก็บไว้ในขวดให้สะอาดปิดสนิท
รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ (รสขมมาก) วันละ 3-4 ครั้ง ก่อนอาหาร
5. ยาผงใช้สูดดม
คือเอายาผงที่บดละเอียด มาใส่ขวดหรือกล่องยา ปิดฝาเขย่าแล้วเปิดฝาออก
ผงยาจะเป็นควันลอยออกมา สูดดมควันนั้นเข้าไป ผงยาจะติดที่คอทำให้ยา
ไปออกฤทธิ์ที่คอโดยตรง ช่วยลดเสมหะ และแก้เจ็บคอได้ดี วิธีที่ดีกว่านี้คือวิธีเป่าคอ
กวาดคอ หรือรับประทานยาชง ตรงที่คอจะรู้สึกขมน้อยมาก ไม่ทำให้ขยาดเวลาใช้
ใช้สะดวกและง่ายมาก ประโยชน์ที่น่าจะได้รับเพิ่มก็คือ ผงยาที่เข้าไปทางจมูก
อาจจะช่วยลดน้ำมูก และช่วยฆ่าเชื้อที่จมูกด้วย
ขนาดที่ใช้
สูดดมบ่อย ๆ วันละหลาย ๆ ครั้ง ถ้ารู้สึกคลื่นไส้ให้หยุดยาไปสักพัก จนความรู้สึกนั้น
หายไป จึงค่อยสูดใหม่
ข้อควรรู้เกี่ยวกับตำรับยา
สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) สารในต้นฟ้าทะลายโจร ละลาย
ในแอลกอฮอร์ได้ดีมาก ละลายในน้ำได้น้อย ดังนั้นยาทิงเจอร์ หรือยาดองเหล้าฟ้าทะลายโจร
จึงมีฤทธิ์แรงที่สุด ยาชงมีฤทธิ์แรงรองลงมา ยาเม็ดมีฤทธิ์อ่อนที่สุด
ข้อควรระวัง
บางคนรับประทาน ยาฟ้าทะลายโจร จะเกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย
ปวดเอว เวียนหัว แสดงว่าแพ้ยา ให้หยุดยา และเปลี่ยนไปใช้ยาอื่น หรือลดขนาดรับประทานลง
ฟ้าทะลายโจร เหมาะสำหรับ "หวัด ร้อน" คืออาการที่เหงื่อออก เจ็บคอ กระหายน้ำ
ท้องผูก ปัสสาวะมีสีเข้ม แต่ฟ้าทะลายโจร จะไม่เหมาะกับผู้ที่มี อาการของ "หวัดเย็น"
คือ ไม่มีเหงื่อ อุ้งมือ อุ้งเท้าเย็น ปัสสาวะมาก รู้สึกหนาวสะท้าน"
ฟ้าทะลายโจร ยาที่มีความหมายในตัวเองไม่น้อย เพราะแม้แต่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าฟ้า
ประทานมาให้ปราบโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ซึ่งเปรียบเสมือน เหล่าโจรร้าย
ส่วนในภาษาจีนกลาง ยาตัวนี้มีชื่ออย่างเพราะพริ้งว่า "ชวนซิเหลียน" แปลว่า
"ดอกบัวอยู่ในหัวใจ" ซึ่งมีความหมายสูงส่งมาก วงการ แพทย์จีนได้ยกฟ้าทะลายโจร
ขึ้นทำเนียบ เป็นยาตำราหลวงที่มีสรรพคุณโดดเด่นมากตัวหนึ่ง ที่สำคัญคือสามารถใช้
เป็นยาเดี่ยวเพียงตัวเดียวก็มี ฤทธิ์แรงพอ ที่จะรักษาโรคได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่หาได้ยาก
ในสมุนไพรตัวอื่น สำหรับความโดดเด่นของฟ้าทะลายโจรนั้น มีสารสำคัญ
ในการรักษาโรค คือ สารแอนโดรแกรโฟไลด์ (Andrographpolide) ซึ่งทางวงการแพทย์
จีนกำหนดว่ามี 1.5% ก็ใช้เป็นยาได้แล้ว และเป็นที่น่ายินดีที่ใบฟ้าทะลายโจร
ในเมืองไทยมีสารสำคัญตัวนี้ถึง 1.7% ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับยาตัวใหม่ แล้ว
ฟ้าทะลายโจรจัดอยู่ในจำพวกยาปฏิชีวนะ เช่น เพนนิซิลลินและเตตราซัยคลิน
ซึ่งเป็น ยาแผนปัจจุบันครอบจักรวาลเลยทีเดียว แต่ปลอดภัยกว่า เพราะไม่มีพิษต่อตับ
และไม่ตกค้างในร่างกาย ซ้ำยังมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคบางอย่างดีกว่า
ยาแผนปัจจุบันเสียอีก นอกจากนี้ยังมี
การทดลองทางคลินิกของโรงพยาบาลบำราศนราดูร พบว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจร
สามารถรักษาโรคบิด ท้องร่วงและโรคท้องเสีย ชนิดเฉียบพลัน ได้ดีเท่ากับเตตราซัยคลิน
ฟ้าทะลายโจรจึงไม่เพียงแก้ร้อนในได้ผลเท่านั้น หากยังสรรพคุณเด่นแก้ไข้หวัด ตัวร้อน
ระงับการอักเสบเจ็บคอ แก้ติดเชื้อ และเป็นยาขมเจริญอาหาร จึงนับได้ว่าฟ้าทะลายโจร
เป็นยาครอบคลุมได้กว้างขวางเหมาะสำหรับเป็นยาสามัญประจำบ้านแบบไทย ๆ
ได้อย่างดียิ่ง
ดังนั้น หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เริ่มที่จะสนใจสมุนไพรสารพัดประโยชน์ตัวนี้ เขามีเคล็ดลับ
ในการกินยาฟ้าทะลายโจรให้ได้ผลดี ดีซึ่งเคล็ดลับนั้นมีอยู่ว่า จะต้องกินตอนเริ่มมี
การอาการเป็นไข้ เจ็บคอ และท้องเสีย โดยกินครั้งละ 5 เม็ดขึ้นไป แต่ถ้ามีอาการมาก
ให้กินได้ถึงครั้งละ 10 เม็ด วันละ 3-4 เวลา ก่อนอาหาร ถ้ากินเป็นยาขมเจริญอาหาร
แก้ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย ใช้ขนาดตั้งแต่ 3-4 เม็ด หรือหากบริเวณบ้านของคุณ
พอจะมีที่ว่างอยู่สักหน่อยก็ลองหาฟ้าทะลายโจรมาปลูกกันดู ฟ้าทะลายโจรเป็นพืชที่ขึ้น
ได้ง่ายสามารถปลูกได้ดีทุกสภาพ แวดล้อม ซึ่งเราสามารถใช้ส่วนใบของฟ้าทะลายโจร
มากินสดได้เลยก็จะยิ่งดี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฟ้าทะลายโจรจะมีประโยชน์ในการรักษา
โรคอย่างกว้างขวางและแม้ว่าฟ้าทะลายโจรจะดูเหมือนจะมีพิษน้อย แต่เนื่องจากเป็น
ยาเย็นจัดการกินฟ้าทะลายโจรรักษาโรคนาน ๆ ติดต่อกันหลายปีอาจจะเกิดอาการ
ข้างเคียงได้ เช่น มีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย แขนขาไม่มีแรง เป็นต้น
แต่ถ้ากินวันละ 1-2 เม็ด เป็นยาอายุวัฒนะสามารถกินได้เรื่อย ๆ ไม่มีพิษอะไร
จากประสบการณ์ของผู้ใช้ มีข้อสังเกตว่าผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำไม่ควรใช้ฟ้าทะลายโจร
เพราะยาฟ้าทะเลาโจรตัวนี้เป็นยาที่มีสรรพคุณในการลด ความดันอยู่แล้ว
ถ้าหากผู้ที่เป็นโรคความดันต่ำ และมาใช้ฟ้าทะลายโจรจะทำให้เกิดอาการหน้ามืด
วิงเวียน มึนงง วิธีแก้คือหยุดยาทันที ภายใน 3-4 ชั่วโมง อาการจะดีขึ้น
เพราะตัวยาสามารถถูกขับออกไปไม่มียาตกค้างในร่างกาย
ฟ้าทะลายโจรที่เหมาะสำหรับ "หวัด ร้อน" คือ อาการที่เหงื่อออก เจ็บคอ กระหายน้ำ
ท้องผูก ปัสสาวะมีสีเข้ม แต่ฟ้าทะลายโจร จะไม่เหมาะกับผู้ที่มีอาการของ "หวัดเย็น"
คือ ไม่มีเหงื่อ อุ้งมืออุ้งเท้าเย็น ปัสสาวะมาก รู้สึกหนาวสะท้าน ถ้าเป็นหวัดเย็น
แล้วกินฟ้าทะลาโจรอาการ จะกำเริบขึ้นได้ เช่น หนาวสั่น คลื่นไส้
ดังนั้นก่อนที่จะกินฟ้าทะลายโจรแก้ไข้ จึงควรพิจารณาในเรื่องเหล่านี้ด้วย
ขอขอบพระคุณ แหล่งที่มา
http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_07_8.htm
จัดทำโดย ด.ญ. เปรมฤทัย ศิริทรัพย์